โม-มุก แห่ง Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ที่เป็นสะพานเชื่อมคนเมืองและเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศไว้ด้วยกัน
December 12, 2023
Happy Grocers คือสตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศไว้ด้วยกัน โดยลูกค้าสามารถเชื่อใจทีมงานได้ในเรื่องของคุณภาพพืชผัก การคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม และสุขภาพของผู้บริโภคเอง
ธุรกิจที่แคร์รอบด้านนี้ เริ่มต้นมาจากจุดเล็ก ๆ นั่นคือเพื่อนรักคู่หนึ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยแนวคิดเดียวกัน โม-สุธาสินี สุดประเสริฐ และ มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย
โมกับมุกเรียนมาทางด้าน Social Entrepreneurship จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่กำลังเรียนอยู่ ทาง MIT มีอีเวนต์ International Development Design Summit ที่ศรีสะเกษ ก็มีโอกาสได้เข้าไปฝึกงาน คลุกคลีกับพี่ ๆ เกษตรกรอยู่ราว 7 เดือน
หลังจากจบงานนั้นโม-มุกก็แยกย้ายไปทำงานของตัวเอง แต่พอมีวิกฤตโควิด-19 พี่เกษตรกรที่ผูกพันกันตั้งแต่เมื่อครั้งทั้งคู่ไปฝึกงาน ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ‘ไม่รู้จะไปปล่อยสินค้าที่ไหน’ เมื่อโรคระบาดทวีความรุนแรง รัฐก็ประกาศล็อกดาวน์ หากไม่มีมาตรการใด ๆ ในการจัดการตลาด
แล้วนักศึกษาที่ร่ำเรียนมาทางผู้ประกอบการสังคมอย่างโมและมุก จะช่วยอะไรพี่ ๆ เขาได้บ้าง
เมื่อคิดแบบนั้นแล้ว โมกับมุกจึงเริ่มเคลื่อนไหวด้วยกันอีกครั้ง
“ในเมื่อผลผลิตมันไม่ได้หยุดที่จะผลิตออกมา เราก็เลยคิดว่า งั้นเอาของเกษตรกรมาให้กับลูกค้าที่อยากได้โดยตรงเลยดีกว่า” มุกกล่าว
แล้วเฟซบุ๊กก็เป็นสถานที่แห่งการเริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อโมโพสต์ว่า ‘มีใครอยากได้ผลผลิตจากเกษตรกรไหม’ จากนั้นลูกค้าคนแรก คนที่ 2 คนที่ 3 ก็เริ่มตบเท้าเข้ามาเรื่อย ๆ
แน่ล่ะว่าลำพังกลุ่มเกษตรกรที่โมและมุกได้รู้จักตอนเรียนมหาวิทยาลัยนั้นก็คงไม่เพียงพอ
เมื่อ Happy Grocers จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ก็ได้พึ่งพารุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นเกษตรกรและมีเครือข่ายของตัวเองด้วย
“พี่คนนี้เขาเชื่อว่าเรามีศักยภาพ ทั้ง ๆ ตอนนั้นเราตัวเล็กมาก” โมเล่าถึงความหลัง “เขาก็เลยให้เริ่มจากฟาร์มเขาก่อน แล้วค่อยแนะนำฟาร์มอื่น ๆ ตามมา”
พอขยายใหญ่ขึ้น ก็เริ่มรู้จักเกษตรกรผ่านรัฐบาลบ้าง สถานทูตบ้าง เมื่อ Happy Grocers เริ่มเป็นที่รู้จักและทำงานจนไว้เนื้อเชื่อใจได้ ก็เริ่มมีพี่ ๆ เกษตรกรติดต่อมาหาโดยตรง
ซึ่งหลังจากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของสองเพื่อนรัก ที่จะต้องลงพื้นที่สำรวจสวนว่าเหมาะจะลงเรือลำเดียวกันรึเปล่า
ในที่สุดแล้วก็มีเกษตรกรถึง 16 กลุ่มที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งกระจายไปทั่วไทย ไม่ว่าจะเชียงใหม่ เชียงราย น่าน อีสาน นครปฐม กาญจนบุรี หรือหลายจังหวัดทางภาคใต้ โดยแต่ละที่ก็มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป
จากสองเด็กฝึกงานตัวเล็ก ๆ ที่เริ่มรู้จักเกษตรกรคนแรก กลายเป็นทีมที่มีเครือข่ายกว้างไกล
ความสำเร็จนี้เริ่มมาจากการที่ทั้งสองเชื่อในตัวเอง จากนั้นเมื่อใช้เวลาพิสูจน์ให้รอบข้างเห็นในความสามารถและความมุ่งมั่น ทุกคนก็เชื่อใจพวกเธอตามมาด้วย
ทางด้านบริการ Happy Grocers พัฒนามาเรื่อย ๆ จนมีบริการมากมายหลายหลาก มี Instant Delivery สั่งปุ๊บส่งได้ปั๊บ มี E-commerce ที่ลูกค้าจะสั่งของออนไลน์แล้วส่งในวันถัดไป มี Grocery Truck หรือรถขนผักที่จะขับไปตามจุดต่าง ๆ 20 จุดในกรุงเทพฯ ให้ลูกค้ามาเลือกช้อป มีการส่งพืชผักไปตามร้านอาหาร มีการทำน้ำมะพร้าวส่งในไทยและต่างประเทศ มีการทำเรื่อง Upcycle Bioware ทั้งยังมี Farm Trip หรือการพาทัวร์ฟาร์มต่าง ๆ และ Sustainbility Workshop สำหรับโรงเรียนและคนทั่วไป นอกจากนั้นทั้งคู่ยังคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้พลาสติกในการขนส่งผลผลิตด้วย
ซึ่งทีมหลักของ Happy Grocers ก็มีกันทั้งหมด 8 คน ด้วยแนวคิดในการทำให้องค์กรมีขนาดกะทัดรัดที่สุด และเน้นความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
แล้วทำไมเกษตรกรรายย่อยถึงสำคัญ?
“เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายย่อย” โมพูด “ถ้ามีตลาดรองรับเกษตรกรกลุ่มนี้ได้ แปลว่าเราสามารถทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มาอยู่ในความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Sustainable Food Movement (ระบบอาหารที่ยั่งยืน) หรือเรื่อง Fair Trade (ระบบการค้าที่เป็นธรรม)”
Happy Grocers สนใจเรื่องดินที่มีคุณภาพ การไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ปล่อยสารเคมีลงแม่น้ำ ไปพร้อม ๆ กับการคิดว่าสินค้าออแกนิคหรือสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืน จะต้องมีราคาที่จับต้องได้สำหรับคนทั่วไปกว่าที่เป็นในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารขึ้น ซึ่งการรับของโดยตรงจากเกษตรกรก็ช่วยได้มาก เพราะตัดเรื่องการทำแพคเกจจิ้งมากมายออกไป
การสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เป็นการขับเคลื่อน SDGs เป้าหมายที่ 8 ที่เกี่ยวกับการจ้างงาน และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และการทำให้ทุกคนเข้าถึงสินค้าดีราคาจับต้องได้ ก็ส่งเสริมเป้าหมายที่ 2 ที่เกี่ยวกับการยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีของคนทุกวัยด้วย
โมกับมุกเชื่อในการบริโภคอย่างยั่งยืน และมองว่าเป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่เธอกำลังขับเคลื่อน พวกเธอจึงตั้งใจเต็มที่ในการเลือกสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดให้ลูกค้า
“การเลือกบริโภคในทุก ๆ วันก็ท้าทายสำหรับคนทั่วไปเหมือนกัน แต่คนสามารถทำให้มันง่ายขึ้นได้ด้วยการสั่ง Happy Grocers” โมเล่าด้วยรอยยิ้ม “ส่วนเรื่องว่าจะปลูกอย่างไร มีระบบโลจิสติกอย่างไรให้ยั่งยืนเนี่ย ขอให้ลูกค้าเชื่อใจว่าเราไปจัดการมาให้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Happy Grocers ไม่ได้ขายของออแกนิคทั้งหมด แต่มีทั้งผักออแกนิค ผักปลอดภัย ผักเกรดธรรมดา และผักที่ปลูกในร่ม เป็นตัวเลือกให้ลูกค้า โดยมีการแจ้งในคำอธิบายสินค้าอย่างโปร่งใสชัดเจน เนื่องจากการจะทำให้เกษตรกรจำนวนมากเปลี่ยนมาปลูกผักออแกนิคนั้นต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้ง เวลา ต้นทุนที่มากขึ้น และการมีตลาดรองรับ
“ที่สำคัญคือ คนชอบคิดว่าออแกนิคอยู่บนจุดสูงสุดของพีระมิด แต่เรารู้สึกว่าระบบอาหารควรมีวิธีการปลูกที่หลากหลายตามสภาพทรัพยากรที่มีในแต่ละภูมิภาค” โมอธิบายให้ฟัง
“อย่างผักบางชนิดของเรา เช่น เคล ก็เป็นผักที่บอบบาง การที่ต้องปลูกในดินแล้วเดินทางจากเชียงใหม่มาถึงกรุงเทพฯ มันมีผลต่อความสด และมี Food Waste เกิดขึ้น การที่จะปลูกในร่มใกล้ ๆ เดินทางไม่เกิน 30 นาที ก็เหมาะสมกว่าในเชิงความยั่งยืน”
ถ้าผลักดันให้แต่ละภูมิภาคปลูกอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาได้ ก็ถือว่าเป็นการสนับสนุน SDGs เป้าหมายที่ 11 ที่เกี่ยวกับการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืนด้วย
ทั้งนี้ ที่นี่ยังไม่กดดันเกษตรกรว่าจะของจะต้องสวยเพอร์เฟ็กต์เหมือนในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะ ‘ทรงไม่สวยก็ขายได้’ เกษตรกรจึงไม่ต้องพยายามใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อทำให้สวย ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นหน้าที่ของพวกเธอที่จะต้องสื่อสารกับลูกค้าตลอดว่าผักไม่สวยก็มาจากสวนเดียวกัน และเราเลือกรับประทานสินค้าเหล่านี้เพราะอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่หน้าตา
มากไปกว่านั้น พวกเธอยังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยการพาไปที่ฟาร์ม ทำให้เห็นว่า Happy Grocers มุ่งมั่นตั้งใจ และทำต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันนี้มีลูกค้าประจำที่เชื่อมั่นและฝากท้องครอบครัวไว้กับพวกเธอและเหล่าเกษตรกรกว่าพันคน
โมบอกว่า ตอนนี้เจ้าของตลาดอาหารใหญ่ ๆ ในประเทศเป็นคนกำหนดการปลูกของเกษตรกรส่วนใหญ่ในไทย ซึ่งบางทีผลผลิตที่ต้องการอาจไม่ได้ดีต่อสุขภาพมากนัก คงจะดีหากรัฐมีการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ผลักดันอาหารปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน หรือการเชื่อมโยงเครือข่ายคนทำงาน ซึ่งหากเป็นอย่างที่โมพูดได้ จะเป็นการผลักดัน SDGs เป้าหมายอื่น ๆ อย่าง เป้าหมายที่ 9 ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และเป้าหมายที่ 12 ที่เกี่ยวกับการสร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนด้วย
แพสชันของพวกเธอ คือการทำให้ Sustainable Food หรือ ความยั่งยืนทางอาหาร เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเป็นอภิสิทธิ์ชน แม้ทั้งคู่จะภูมิใจว่ามาไกลจากวันแรกมากมาย แต่ก็ยอมรับว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่
“ตอนที่เราเรียน ทุกอย่างเป็นเรื่อง SDGs หมดเลย แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องความยั่งยืนทางด้านการเงิน หลายคนที่คิดอยากทำอะไรเพื่อสังคมก็อาจคิดว่าทำได้แค่ช่วงสั้น ๆ ทำเป็นงานประจำไม่ได้ แต่การทำ Happy Grocers เหมือนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มันสามารถเป็นสิ่งหลักในชีวิตคุณได้ และยั่งยืนทางด้านการเงินด้วย” โมยิ้มกว้าง
เมื่อถามถึงคำแนะนำให้คนธรรมดาที่อยากขับเคลื่อนสังคมในประเด็นที่สนใจบ้าง โมก็พูดถึงการมองดูรอบตัวว่ามีทรัพยากรอะไรที่ใช้เริ่มต้นได้ และความกล้าที่จะเริ่มด้วยจุดเล็ก ๆ
“เราค่อนข้างเชื่อทฤษฎีที่ว่าการค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ ขยาย ก็สามารถสร้างอิมแพกต์ในวงกว้างได้ และคุณจะกลายเป็น Change Maker”
ฝันเห็นโลกนี้เป็นยังไง - เราถามทิ้งท้าย
“อยากเห็นพื้นที่สีเขียวยังคงอยู่ ในขณะที่โลกพัฒนาไปเรื่อย ๆ” มุกกล่าว เธอบอกว่าสินค้าการเกษตรเป็นธุรกิจที่อาจทำเงินไม่ได้สูงเท่าเทคโนโลยีบางอย่าง ทำให้คนนำพื้นที่สีเขียวที่ใช้ปลูกเป็นอาหารไปทำอย่างอื่นแทน แล้วคนก็เข้าถึงอาหารได้น้อยลงเพราะราคาสูงขึ้น
“อยากให้คนยังใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเกษตรอยู่เหมือนเดิม อาหารที่ดีควรเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนเข้าถึงได้ ไม่ว่ารวยหรือจนค่ะ”