งานวิจัยใหม่โดย UNDP และ OPHI ตอกย้ำความจำเป็นของการลงทุนในสันติภาพ เพื่อบรรเทาความยากจน
UNDP และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเผย ผู้คน 1.1 พันล้านคนทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่ในภาวะยากจนหลายมิติ ขณะที่ไทยลดอัตราความยากจนหลายมิติได้ครึ่่งหนึ่งในเวลา 7 ปี
November 5, 2024
กรุงเทพมหานคร 4 พฤศจิกายน 2567 – จากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) ทั่วโลกฉบับล่าสุด คนยากจนทั่วโลกถึง 455 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่เสี่ยงต่อความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งขัดขวางหรือแม้แต่บั่นทอนความก้าวหน้าในการลดความยากจน อันเป็นภารกิจที่ทำสำเร็จได้ยาก
รายงานดัชนีความยากจนหลายมิติทั่วโลกประจำปี 2567 ซึ่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ตีพิมพ์ร่วมกับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative: OPHI) แสดงข้อมูลวิจัยทางสถิติดั้งเดิมว่าด้วยความยากจนหลายมิติใน 112 ประเทศและในบรรดาผู้คน 6.3 พันล้านคน ดัชนี MPI ไม่ได้เพียงจำแนกประเทศต่าง ๆ ออกเป็น "ร่ำรวย" หรือ "ยากจน" เท่านั้น แต่พิจารณาไปไกลยิ่งกว่ามิติด้านรายได้ กล่าวคือ ต้องพิจารณาว่าผู้คนมีประสบการณ์กับความยากจนอย่างไรด้วย โดยแบ่งออกเป็น 10 มิติ อาทิ การเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม สุขอนามัย และไฟฟ้า ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างตรงจุด และออกแบบนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จุดเด่นประการหนึ่งของรายงานปีนี้คือ ความเหลื่อมล้ำจากทั้งภายในและนอกประเทศ จากการวิเคราะห์ค้นพบว่า ร้อยละ 28.0 ของประชากรในชนบททั่วโลกมีฐานะยากจน หากเปรียบเทียบกับร้อยละ 6.6 ของประชากรเขตเมือง ผู้เขียนได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่าหลักฐานใหม่นี้ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อสันติภาพ อีกทั้งยังเน้นย้ำด้วยว่า ประชาชนจำนวน 1.1 พันล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรง และจำนวนร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสงคราม ความเปราะบาง หรือขาดสันติภาพ
รายงานฉบับนี้ตอกย้ำว่า เพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงพอ หากปราศจากสันติภาพและประเทศจะไม่สามารถลรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประการเบื้องต้น เช่น ข้อแรกสุดในบรรดา 17 ข้อ นั่นคือ ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่
รายงานนี้เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั่วโลก เพื่อยุติสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งทำลายชีวิต โครงสร้างพื้นฐานและทำให้โลกถดถอยซึ่งทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอย่างไม่จำเป็น รวมถึงการดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อปกป้องสันติภาพในพื้นที่ที่เปราะบางที่สุด ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่าจะต้องใช้แนวทางบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อการฟื้นฟูและการสร้างสันติภาพ โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกประเทศจะต้องร่วมมือกัน
"ช่วงหลายปีให้หลัง ความขัดแย้งทวีความรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้น กระทั่งทุบสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิต ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น ก่อให้เกิดความลำบากขัดสนในชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นวงกว้าง" อาคิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ผู้อำนวยการใหญ่ประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติกล่าว "เราต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลและการเข้าถึงเพื่อการพัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจง และดำเนินการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยทำลายวงจรของความยากจนและวิกฤต"
รายงาน MPI ทั่วโลกเปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ก้าวหน้ามาอย่างน่าจับตาในเรื่องการจัดการปัญหาความยากจนหลายมิติ ประเทศไทยลดจำนวนประชากรที่เผชิญกับความยากจนหลายมิติได้ครึ่งหนึ่งในเวลาเพียงเจ็ดปี ตัวเลขลดลงจาก 909,000 คนในปี พ.ศ. 2555 เหลือเพียง 416,000 คนในปี พ.ศ. 2562 และในปี พ.ศ. 2565 ก็ลดลงอีกเหลือเพียง 352,000 คนที่มีชีวิตอยู่ในภาวะยากจนหลายมิติ ความสำเร็จนี้เป็นเพราะประชากรได้รับการศึกษาสูงขึ้น กินอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากขึ้น และเข้าถึงที่อยู่อาศัย ก๊าซหุงต้ม และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น
ตัวเลข MPI ของประเทศไทยอยู่ที่ 0.002 ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เวียดนาม (0.008) อินโดนีเซีย (0.014) ฟิลิปปินส์ (0.016) กัมพูชา (0.070) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (0.108) และเมียนมาร์ (MPI 0.176 ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุดที่มี คือจากปี พ.ศ. 2558) ที่ประเทศไทยมีตัวเลขต่ำกว่า หมายความว่าประเทศไทยแก้ปัญหาความยากจนหลายมิติได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่ได้รับการสำรวจ
ถึงแม้ว่าในภาพรวม ประเทศไทยจะก้าวหน้ามาอย่างมากในแง่การบรรเทาความยากจน ทว่าความยากจนหลายมิติในไทยนั้นมีสูงกว่าความยากจนในด้านการเงิน (monetary poverty) 0.5 จุด ซึ่งหมายความว่า ผู้คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนทางการเงินยังคงประสบความขาดแคลนในด้านสุขภาพ การศึกษา และ/หรือมาตรฐานการใช้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ความยากจนหลายมิติยังคงแพร่หลายในพื้นที่ชนบทระดับภูมิภาค
ข้อค้นพบจากรายงานระดับโลกฉบับนี้สอดคล้องกับการประเมินระดับประเทศของประเทศไทย กล่าวคือ รายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ประจำปี 2564 จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเน้นย้ำว่าในพื้นที่ชนบทมีอุบัติการณ์และความเข้มข้นของความยากจนหลายมิติสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังเผชิญความขัดแย้ง
ดังนั้น การยุติความยากจนทุกรูปแบบจึงจำเป็นต้องอาศัยแนวทางทั้งแบบบนลงล่างและล่างขึ้นบน เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างในด้านความเข้มข้นและองค์ประกอบของความยากจน ตลอดจนเพื่อป้องกันความขัดแย้งอีกด้วย สาระสำคัญนี้สอดคล้องกับรายงานความยากจนหลายมิติฉบับใหม่ของประเทศไทย กล่าวคือ ดำเนินกระบวนการสร้างสันติภาพและใช้วิธีการที่เน้นผู้คนเป็นจุดศูนย์กลาง (people-centered) ให้เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป นี่คือกุญแจสำคัญที่จะเร่งรัดการขจัดความยากจน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ในที่สุด ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับท้องถิ่น ด้วยการจัดการกับต้นตอของปัญหาและผลกระทบของความขัดแย้งโดยอาศัยข้อมูลและความมุ่งมั่นตั้งใจนี้เอง ผู้คนยากจนก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวและเพื่อชุมชน
อ่านรายงานฉบับเต็ม ซึ่งครอบคลุมถึงแนวโน้มตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและมุมมองเชิงลึกในแต่ละประเทศ ได้ที่นี่
ข้อมูลติดต่อสำหรับสื่อ:
ดร.ฎาฎะณี วุฒิภดาดร/ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์/ dadanee.vuthipadadorn@undp.org
ดร.อนรรฆ เสรีเชษฐพงษ์/ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา/ anuk.serechetapongse@undp.org
กานท์กลอน รักธรรม/ หัวหน้าการสื่อสารและการมีส่วนร่วม/ karnklon.raktham@undp.org
Stanislav Saling/ Communications Specialist/ stanislav.saling@undp.org
Maya Evans/ Head of Communications/ maya.evans@qeh.ox.ac.uk