งานเปิดตัวรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัดโดยโครงการ SDG Localization โครงการนี้สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป
เปิดตัว 15 รายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน พาจังหวัดก้าวไปอีกขั้นบนเส้นทาง SDGs
July 23, 2024
สหภาพยุโรป ได้ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และกระทรวงมหาดไทย เปิดตัวรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ใน 15 จังหวัดนำร่องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567 นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสําคัญในการเดินทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยงานในครั้งนี้ได้ผลึกกำลังจากผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครฯ รวมไปถึงฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนสถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม โดยผู้เข้าร่วมรวมกว่า 400 คนได้ร่วมรับฟังและหารือถึงความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของแต่ละจังหวัดตามที่ระบุไว้ในรายงาน SDG Profile เพื่อเร่งความก้าวหน้าของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนภายในปีพ.ศ. 2573 นอกจากนี้งานดังกล่าวยังได้ถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์ผ่านความร่วมมือด้านสื่อกับ THE STANDARD เพื่อประชาสัมพันธ์ SDG Profile สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง
ด้วยการสนุนทุนจากสหภาพยุโรป รายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยริเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเปิด (Open Data) ของ 15 จังหวัดนําร่องพร้อมฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ ชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อรวบรวมมาเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมและฉายภาพความท้าทายที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่อย่างชัดเจน ดังนั้นรายงานฉบับนี้จึงหยิบยกตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Indicators) มาเป็นกลไกมาตรฐานในการติดตามวัดผลเพื่อทำให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนทำงานอย่างเชื่อมโยงกัน และชี้ชัดว่าการทำงานร่วมกันในระดับท้องถิ่นส่งผลต่อการบรรลุวาระการพัฒนาระดับโลก
รายงาน SDG Profile ของ 15 จังหวัดเผยให้เห็นความท้าทายและความก้าวหน้าที่หลากหลายในภูมิภาคต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักที่พบได้ในทุกจังหวัด ได้แก่ ความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ เนื่องจากหลายภูมิภาคยังคงเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นถึงความจำเป็นในเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ และ SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าอย่างครอบคลุมทั้งในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้แต่ละโปรไฟล์ได้เน้นย้ำข้อค้นพบที่แตกต่างกันออกไป แต่จะให้ภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานะการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
"การดําเนินการขับเคลื่อนเป้าหมาการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ในประเทศไทยโดย UNDP สนับสนุนโดยสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจําเป็นในการขับเคลื่อนจากระดับโลกไปยังระดับท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทสําคัญในการแปลวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่การดําเนินการที่เป็นรูปธรรมที่ส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและไทยนั้นดำเนินอยู่ภายใต้ความมุ่งมั่นร่วมกันของเราในการเร่งดําเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปีพ.ศ. 2573" ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวในช่วงต้น
ฯพณฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า “โครงการนี้เป็นการริเริ่มงาน SDGs ในระดับท้องถิ่นที่สำเร็จอย่างมาก โดยเกิดกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น องค์กรระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อสารมวลชน มีการสร้างเครือข่ายและเวทีหารือเรื่อง SDGs ในระดับท้องถิ่น ซึ่งผู้บริหารกระทรวงให้ความสำคัญและความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือการพูดคุยเรื่อง SDGs ในระดับนโยบายและปฏิบัติมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นขยายผลไปยังประชาชนทุกครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง”
งานดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงผลลัพธ์และความสำเร็จของโครงการ SDG Localization ในระยะแรกเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องและทิศทางเชิงกลยุทธ์สำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย วิสัยทัศน์นี้สะท้อนโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 15 ท่าน นำโดยนายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่า “เรามาร่วมกันในวันนี้ด้วยเจตนารมณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการเป็น "พลเมืองที่ดีของโลก" ที่มีความรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวของเรา และเรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความภาคภูมิใจ ภายใต้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของพันธมิตรและภาคีเครือข่ายว่าพวกเรามีความตั้งใจส่งต่อโลกใบเดียวที่สวยงามไว้ให้ลูกหลานในอนาคต ด้วยการร่วมลงมือทำร่วมกัน "SDG Localization" จึงเป็นหลักประกันว่า คนรุ่นนี้ตลอดจนรุ่นถัดไปจะมีวัฒนธรรมในการเป็นพลเมืองดีของโลก ที่ยึดมั่นในการทำสิ่งที่ดี "Change for Good" ให้กับทุกพื้นที่ทั่วประเทศของเรา”
ต่อมาในเวทีแบ่งปันวิสัยทัศน์จาก 15 ผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องอย่างจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ และปัตตานี ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านจากท่องเที่ยวที่ต้องมีความสอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย นครราชสีมา และเพชรบุรี ที่มีทรัพยากรจังหวัดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุลกับการรักษาป่าและระบบนิเวศในพื้นที่ สำหรับจังหวัดอุดรธานี สงขลา และนราธิวาส เป็นกลุ่มจังหวัดที่ล้วนเสี่ยงต่อภัยพิบัติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม จึงมีจุดโฟกัสอยู่ที่การขับเคลื่อนหน่วยงานในพื้นที่ ประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันรับมือภัยพิบัติผ่านการเตรียมความพร้อมและส่งเสริมความรู้ในการฟื้นตัว สุดท้ายสำหรับจังหวัดตาก ยะลา และอุบลราชธานี กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนเป็นประตูทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ มีวิสัยทัศน์โดดเด่นเรื่องการบริหารจัดการผู้การชุมชนและผู้อพยพจากสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้นเวที Thailand's Journey ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมรับฟังปาฐกถาเรื่อง SDGs และวงเสวนาหัวข้อ “พัฒนาข้อมูลเพื่อปลดล็อกและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลในกระบวนการการพัฒนา โดยเวทีนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของกรุงเทพมหานครและอีกมากมาย ซึ่งเป็นผู้ที่พาสำรวจเส้นทางข้อมูลอันนำพามาซึ่งการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดสรรบุคลากร และการติดตามและประมวลผลความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs พร้อมหารือถึงความสำคัญของความโปร่งใสของข้อมูล การบูรณาการการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และการใช้ระบบ SDG Monitoring Platform เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและแนวโน้มทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังนำเสนอกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จสู่การปรับปรุงนโยบาย การมีส่วนร่วมของชุมชน และการดำเนินโครงการที่ยั่งยืน
ในคำกล่าวปิดท้าย คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงผลลัพธ์ของโครงการ SDG Localization ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนามที่ยั่งยืนภายในปีพ.ศ. 2573 ว่า “ความร่วมมือนี้จะดำเนินต่อไป โดยวันนี้เราพลิกหน้ากระดาษไปอีกหน้าแต่เราจะไม่ปิดหนังสือ เราเปิดมันไว้เพราะ UNDP และพันธมิตรของเราเชื่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายกเทศมนตรีนั้นเป็นแนวหน้าผู้รับรู้ความต้องการของคนในชุมชนได้ดีที่สุด ดังนั้นเราจึงหวังอย่างยิ่งว่าจะได้สานต่อความเป็นหุ้นส่วน และร่วมงานกับทุกคนต่อไปในอนาคต และขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของเราในวันนี้”
ดาวน์โหลดรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ของ 15 จังหวัดนำร่อง: https://linktr.ee/sdgprofile
###
สหภาพยุโรปเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองประกอบด้วยรัฐสมาชิก 27 ประเทศ สหภาพยุโรปตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมที่ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค หลักนิติธรรม และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิของชนกลุ่มน้อย สหภาพยุโรปปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วโลกในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของทุกคน
UNDP ร่วมมือกับผู้คนในทุกระดับของสังคมเพื่อช่วยสร้างประเทศที่สามารถต้านทานวิกฤต ตลอดจนขับเคลื่อนและรักษาการเติบโตในลักษณะที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคนในพื้นที่กว่า 170 ประเทศ/ดินแดน เรานำเสนอมุมมองระดับโลกและข้อมูลเชิงลึกในท้องถิ่นเพื่อช่วยเสริมพลังชีวิตและสร้างประเทศที่ยืดหยุ่น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา